วัดสังเวชวิศยาราม ********** |
|
|
โดย พระศรีสิทธิมุนี (พล อาภากโร ป.ธ.๙, Ph.D)
|
มงคลนามนี้.....ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ พระราชทาน |
วัดสังเวชวิศยาราม เป็นพระอารามหลวงเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจที่ยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อว่า วัดสามจีนเหนือ และต่อมาเรียกชื่อ วัดบางลำพู (ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าวัดบางลำพูบน) ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๐ ซอยสามเสน ๑ เชื่อมระหว่างถนนพระอาทิตย์กับถนนสามเสน |
พระวิหารของวัด |
โรงเรียนวัดสังเวช |
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนาบางกอกเป็นราชธานีแล้ว ทรงแต่งตั้งให้พระอนุชาคือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ขึ้นเป็นวังหน้า สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงรับเอาวัดโบราณหลายวัดไว้ในพระราชูปถัมภ์ หนึ่งในจำนวนนั้นคือวัดบางลำพู(วัดสังเวชวิศยารามในปัจจุบัน) พระองค์ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้ให้สง่างาม มีเสนาสนะมั่นคงถาวรเพื่อพระราชทานให้เป็นสถานที่อยู่ของพระสนมชาวเขมรที่มีจิตเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนา มีศรัทธาแก่กล้า สละเพศคฤหัสถ์ปฏิบัติครองเพศเป็นนักชี ซึ่งนักชีท่านนี้เป็นยายของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์ เจ้าหญิงกัมพุฉัตรและพระองค์เจ้าขัตติยา ปูชนียสถานที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงปฏิสังขรณ์นั้นได้แก่ กำแพงวัดด้านทิศใต้และตะวันออกอ้อมไปทางทิศเหนือ ส่วนด้านริมคลองทรงสร้างเป็นเขื่อนด้วยไม้แก่น และทรงสร้างศาลาท่าน้ำรวม ๓ หลัง หลังหนึ่งทำเป็น ๒ ห้อง หลังคามีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันจำหลักลายปิดทองประดับกระจก เรียกว่า "ศาลาฉนวน" ตั้งอยู่ริมคลองบางลำพูซึ่งมีถนนพาดผ่านเพื่อเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถสำหรับเสด็จพระราชทานถวายผ้าพระกฐิน |
วัดสังเวชวิศยาราม : นามพระราชทาน |
ภาพบริเวณวัด |
วัดสังเวชวิศยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เดิมชื่อวัดสามจีนเหนือ และวัดบางลำพู ดังทราบแล้ว เป็นพระอารามที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ กาลล่วงมาถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ด้านภาษา มีความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อจากวัดบางลำพูเสียใหม่ว่า "วัดสังเวชวิศยาราม" | |
ความหมายของวัดซึ่งเป็นนามพระราชทานนี้ หลายคนนักมักเข้าใจผิด แปลให้ผิดคลาดเคลื่อนจากความหมายรากศัพท์เดิม คำว่า สังเวช ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ตั้งเป็นมงคลนามขึ้นต้นและต่อท้ายด้วยคำว่า "วิศยาราม" นี้ มาจากคำว่า "สังเวคะ" แปลว่า "กระตุ้นเตือน, ปลุกเร้า, คึกคัก, เกิดกำลัง, แกล้วกล้า, แข็งขัน" คือ "ปลุกเร้ากระตุ้นเตือนใจให้นึกถึงความจริงแห่งชีวิต พิจารณาอารมณ์เป็นธรรมสังเวช คือกฎแห่งไตรลักษณ์ อันได้แก่ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความเป็นทุกข์ทนได้ยาก และความไม่มีตัวตนแห่งชีวิตนั่นเอง
" ผู้ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง มักจะแปลออกไปในทำนองเศร้าสร้อย หงอยเหงา.. แท้ที่จริง คำว่า "สังเวช" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า "สังเวคะ" มิได้มีความหมายเช่นนั้นเลย ถ้าแปลตามที่เข้าใจผิดๆ กันมานั้นท่านเรียกว่า "ถีนมิทธะ" ซึ่งเป็นนิวรณ์ตัวขวางกั้นมิให้บรรลุคุณงามความดี ส่วนคำว่า "วิศยะ" แปลว่า "อารมณ์" รวมความว่า "วัดสังเวชวิศยาราม" ก็คือ "อารามเป็นที่อยู่ของผู้มีอารมณ์แกล้วกล้า แข็งขัน เกิดแรงบันดาลใจให้รีบเร่งทำคุณงามความดี ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต " อีกประการหนึ่ง คำว่า "สังเวชวิศยาราม" มีรากศัพท์และนิยามศัพท์ตรงกับคำว่า "สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล" อันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับ ขันธปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชน เมื่อมีโอกาสจำจักต้องไปนมัสการด้วยตนเอง เมื่อตายไปก็จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ดังพระดำรัสที่มาในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๐ ฑีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งสรุปเป็นใจความว่า "ก็ชนที่มีโอกาสได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ด้วยจิตที่เลื่อมใสแล้ว เมื่อตายไป พวกเขาจักไปสู่สุคติ โลกสวรรค์" จากพระพุทธพจน์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ด้วยนามอันเป็นมงคลนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดสังเวชวิศยาราม" |
วัดสังเวชวิศยาราม : วัดที่มีความสำคัญตั้งแต่ประวัติศาสตร์
|
กล่าวถึงความสำคัญ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันแล้ว วัดสังเวชวิศยารามเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย มีหน้าประวัติศาสตร์ที่ควรจารึกจดจำมาโดยตลอด นอกจากเป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ เจ้านายพระองค์ชั้นสูงได้ทรงอุปถัมภ์บำรุง เป็นพระอารามหลวง ยังมีหลักฐานที่บันทึกแผ่นไมโครฟิล์ม ในหอสมุดแห่งชาติว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินหลวง ณ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) หลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามจากวัดบางลำพู มาเป็น "วัดสังเวชวิศยาราม"
พระอุโบสถ | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราที่เกิดเพลิงไหม้แถวบางลำพู ลุกลามไปไหม้วัดสังเวชวิศยาราม ก็ได้เสด็จมาประทับ ณ สะพานฮงอุทิศ ทรงบัญชาการดับเพลิงด้วยพระองค์เอง เมื่อเสนาสนะเสียหายเพราะไฟไหม้ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้รื้อพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วให้นำไม้ไปสร้างเสนาสนะถวายพระสงฆ์ที่วัดสังเวชวิศยาราม แห่งนี้ และมีพระราชกุศลจิตเลื่อมใสศรัทธา นำผ้าพระกฐินพระราชทานไปถวายพระสงฆ์ผู้จำพรรษา ณ พระอารามหลวงแห่งนี้ถึง ๕ ครั้ง คือพ.ศ. ๒๔๑๘, ๒๔๑๙, ๒๔๒๒, ๒๔๒๙ และ ๒๔๓๑ ตามลำดับ ด้วยความเลื่อมใสเป็นอเนกอนันต์ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสังเวชวิศยาราม โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสกมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยารามเป็นองค์ครองผ้าพระกฐินเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ |
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) : เคยประทับที่วัดสังเวชวิศยารามขณะเป็นสามเณร
|
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) |
พุทธศาสนิกชนคนไทยทั้งหลาย คงเคยได้ยินและรู้จักพระนามสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) เป็นอย่างดี พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้บรรพชาเป็นสามเณรแต่ครั้งยังเยาว์ ได้มาอยู่วัดสังเวชวิศยาราม และไปเรียนพระปริยัติธรรมในพระราชวังบวรกับอาจารย์อ่อนและโยมบิดาของท่านเองซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่พระราชวังบวรด้วยกัน จนกระทั่งพระชนมายุได้ ๑๔ ปี ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมครั้งแรก แปลได้ ๒ ประโยค ยังไม่ได้เป็นเปรียญแต่คนทั่วไปเรียก "เปรียญวังหน้า" |
|
| |
กาลต่อมาสามเณรสาได้สมัครเป็นศิษย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชและเสด็จพำนักอยู่ที่วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาส เมื่อรับเป็นศิษย์แล้วพระจอมเกล้าฯ หรือวชิราโณภิกขุ ก็ถ่ายทอดความรู้ ภาษาบาลีให้แก่สามเณรสา จนกระทั่งอายุได้เพียง ๑๘ ปี ก็สามารถแปลพระปริยัติธรรมได้ถึง ๙ ประโยค เป็นที่อัศจรรย์ในความฉลาดปราดเปรื่องยิ่งนัก สมัยนั้นยังแปลพระปริยัติธรรมกันด้วยปากเปล่า (หมายถึงแปลสดๆให้กรรมการฟังแล้วแต่กรรมการว่าจะให้แปลคัมภีร์อะไร หน้าที่เท่าไหร่) เป็นที่โจษจรรไปทั่วพระนคร สามเณรสาจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงสายเปรียญธรรมรูปแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มาอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระอมรโมลี ต่อมาได้ลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์อยู่ระยะหนึ่ง และได้รับการอุปสมบทครั้งที่ ๒ ณ พัทธสีมาวัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู กรุงเทพมหานครว่ากันว่าเมื่ออุปสมบทแล้วได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่งและทรงแปลได้ทั้ง ๙ ประโยคจึงเป็นที่มาของพระสมญานามว่า "สังฆราช ๑๘ ประโยค" |
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี): สามเณรวัดสังเวชวิศยาราม
|
นอกจากเป็นวัดประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจแล้ว พุทธศาสนิกชนทั่วไป ทราบกันเป็นอย่างดีว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ซึ่งเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้ทรงคุณด้านวิชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล "พระสมเด็จ" ได้มีความผูกพันกับวัดสังเวชวิศยาราม (ขณะนั้นเรียกว่าวัดบางลำพู) มาตั้งแต่เด็ก โดยประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้รับการบันทึกว่า...วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ นางงุด ได้คลอดบุตรชายให้ชื่อว่า "โต" มีลักษณะแตกต่างจากเด็กอื่นๆ ทำให้ญาติมิตรทักทายกันไปต่างๆ นานา จนนางไม่สบายใจ วันหนึ่งจึงนำทารกน้อยไปฝากตัวต่อพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีผู้คนนับถือมาก พระอาจารย์แก้วตรวจพิจารณาดูก็รู้ว่า เด็กคนนี้มีปัญญาสามารถทั้งเฉลียวฉลาดในการร่ำเรียน จะเป็นบุคคลเปรื่องปราชญ์อาจหาญ เชี่ยวชาญวิทยาคมในอนาคต....เมื่ออายุครบ ๑๒ ปี บริบูรณ์ ตรงกับปีวอก พ.ศ. ๒๓๔๒ เด็กชายโตได้บรรพชาเป็นสามาเณรโดยมีพระบวรวิริยเถร (อยู่) เจ้าอาวาสวัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม ปัจจุบัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเป็นสามเณรอยู่ที่วัดสังเวชวิศยารามาก่อน ก่อนที่จะย้ายไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม |
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) |
| |
จากประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยังมีต้นอโศกยืนต้นเด่นเป็นสง่าบ่งบอกกาลเวลานับได้ ๑๐๐ กว่าปีอยู่ในบริเวณโรงเรียนวัดสังเวช เป็นเครื่องยืนยันหลักฐานว่า สามเณรโต เคยมานั่งฉันเพล และเจริญสมาธิภาวนา ณ ใต้ต้นอโศกนี้...ดังปริศนาลายแทงเขียนไว้เป็นหลักฐานว่า "ตำบลวัดสามจีน มีหินสามก้อน ที่นอนสามอัน มีต้นอโศกเอน ที่เจ้าเณรนั่งฉัน" วัดสามจีนก็คือชื่อเดิมของวัดสังเวชวิศยาราม ต้นอโศก ก็คือต้นไม้ที่อยู่ในบริเวณโรงเรียนวัดสังเวชปัจจุบันนั่นเอง |
สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริมหาเถร) สัทธิวิหาริกของวัดสังเวชวิศยาราม
|
สมเด็จพระวันรัต (ทับ) |
จากเกียรติภูมิที่เคยมีพระมหาเถระผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยคือสมเด็จพระสังฆราช เคยประทับอยู่วัดสังเวชวิศยาราม ขณะเป็นสามเณรแล้ว เกียรติศักดิ์ที่ควรจดจำจารึกมิให้สูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่ายิ่งก็คือ ยังมีพระมหาเถระที่ดำรงสมณศักดิ์ ชั้นสุพรรณบัฎ คือสมเด็จพระราชาคณะอีกรูปหนึ่งเคยจำพรรษาอยู่ที่วัดสังเวชวิศยาราม ขณะเป็นสามเณร คือเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริมหาเถร) เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระมหาเถระที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฏก เป็นนักกัมมัฏฐานที่ชอบออกธุดงค์ เป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดต่อพระธรรม พระวินัย เป็นอย่างมาก มีอาจารสมบัติเป็นที่น่าประทับใจ น่าเลื่อมใสและเป็นสมเด็จที่ทรงเกียรติคุณควรแก่การเคารพบูชามากองค์หนึ่งของประเทศไทย |
| |
สมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสกมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม |
ด้วยเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจวบจนปัจจุบัน วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร จึงมีความสำคัญสืบเนื่องมาโดยลำดับ อดีตเจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยารามเคยดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ถึงระดับ "สมเด็จ" มาแล้ว....ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พระเดชพระคุณพระธรรมวโรดม พระราชาคณะชั้น หิรัญบัฏ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรด สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสกมหาเถร) เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์แก่ประเทศชาติศาสนา มาเป็นอเนกอนันต์ ได้ดำรงตำแหน่งคณะสงฆ์ที่มีความสำคัญมากมาย ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (๑๘ เมษายน ถึง ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๘) เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองและสมาชิกสังฆสภา เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้ เป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๑๒ และภาค ๙ เป็นเจ้าคณะกรุงเทพธนบุรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ศ.ต.ภ. เป็นประธานกรรมการโรงพยาบาลสงฆ์ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาศาสนสมบัติกลาง (พ.ศ.ป.) เป็นต้น จากเกียรติประวัติดังกล่าวมา นับเป็นความภาคภูมิใจของคณะสงฆ์ตลอดถึงพุทธศาสนิกชนศิษยานุศิษย์ ของชาววัดสังเวชวิศยารามเป็นอย่างยิ่ง |
วัดสังเวชวิศยาราม: วัดแห่ง ศ.ต.ภ.
|
เมื่อพูดถึง คำว่า ศ.ต.ภ. ขึ้นมาทีไร พระภิกษุสามเณรทั่วประเทศไทย หน่วยงานราชการของรัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานเอกอัครราชทูต กรมการกงสุลต่างๆ ทั่วโลก ตลอดถึงบริษัทจัดทัวร์ซึ่งถวายความสะดวกแด่พระภิกษุสามเณรทำพาสปอร์ตเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องนึกถึงวัดสังเวชวิศยารามขึ้นมาทันที...คำว่า ศ.ต.ภ. ย่อมาจากคำว่า "ศูนย์ควบคุมการเดินทางไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร" ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "The Center of Ecclesiastical External Mission" ชื่อย่อว่า "CEEM" เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาเถรสมาคม มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองและอนุมัติการเดินทางไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณรแห่งคณะสงฆ์ไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ที่วัดสังเวชวิศยาราม ซึ่งมี พระธรรมสิทธิเวที เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๒ เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่ง ศ.ต.ภ. แห่งนี้จะมีการประชุมพิจารณาและอนุมัติการเดินทางไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณรแห่งคณะสงฆ์ไทยทุกวันที่ ๑ และ ๑๕ ของเดือน โดยมีพระพรหมเวที วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธาน ประกอบด้วยกรรมการคือ พระธรรมวรเมธี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พระธรรมปัญญาภรณ์ วัดปากน้ำ, พระเทพปริยัติสุธี วัดบพิตรพิมุข มีการทำงานเป็นระบบ รวดเร็วทันสมัย และเชื่อมโยงประชาสัมพันธ์เครือข่าย Internet ไปทั่วโลก เมื่อประชุมแล้วจักประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุมัติผ่านเว็บไซด์ www.sortorpor.com ซึ่งผู้สนใจสามารถคลิกเข้าชมเยี่ยมได้ตลอดเวลา
. |
วัดสังเวชวิศยารามปัจจุบัน
|
วัดสังเวชวิศยารามวรวิหารปัจจุบัน มีพระเดชพระคุณพระธรรมสิทธิเวที (ถมยา อภิจาโร) เป็นเจ้าอาวาส พระเดชพระคุณ ฯนอกจากดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ยังดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๒ และตำแหน่งสำคัญยิ่ง ซึ่งพระเดชพระคุณฯได้สนองงานคณะสงฆ์ด้วยความเรียบร้อยดีงามตลอดมาก็คือ เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. วัดสังเวชวิศยาราม มีประวัติศาสตร์ที่ควรจดจารจารึกมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันดังกล่าวแล้ว ยังถือว่า เป็นวัดที่มีความสำคัญด้านการปกครองคณะสงฆ์มาโดยตลอดอีกวัดหนึ่งเช่นกัน นับแต่เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสกมหาเถร) เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐, พระราชรัตนโสภณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๑ ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค ๓, พระธรรมสิทธิเวที ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๒ และมีผู้ช่วยเจ้าอาวาสอีกรูปหนึ่งในปัจจุบันคือ พระศรีสิทธิมุนี (พล อาภากโร ป.ธ.๙,Ph.D) ดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะภาค ๖, เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดสังเวชวิศยาราม นอกจากเป็นวัดที่มีความสำคัญในด้านการปกครองคณะสงฆ์แล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ได้อย่างไม่จำกัด มีการเปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรม และมีโรงเรียนมัธยมที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเป็นสถานศึกษาของเยาวชนของชาติ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ มีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นศิษย์เก่ามีชื่อเสียงทำงานดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงเช่นผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐ ผู้บริหารระดับแนวหน้าของประเทศ ตลอดถึง หน่วยงานราชการของรัฐและเอกชนมากมาย พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาในพระอารามแห่งนี้ล้วนเป็นมหาเปรียญมีภูมิความรู้ทั้งทางปริยัติธรรมและวิชาสามัญตลอดถึงเชี่ยวชาญด้านการแสดงพระธรรมเทศนาและปาฐกถาธรรมเกือบทุกรูป นับเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของคณะสงฆ์ ตลอดถึงศิษยานุศิษย์ชาววัดสังเวชวิศยารามเป็นอย่างมาก.... ผู้สนใจจะไปนมัสการปูชนียสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดถึงศึกษาสนทนาธรรม สามารถเดินทางไปชมและศึกษาได้ทุกวัน |
รายนามอดีตเจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม
|
วัดสังเวชวิศยาราม เป็นวัดที่สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี รายนามเจ้าอาวาสตั้งแต่แรกสร้างยังไม่ปรากฏชัด จวบจนกระทั่งปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ จึงได้พบหลักฐาน รายนามเจ้าอาวาสดังต่อไปนี้ ; |
๑. พระศีลพรหมจรรย์ (รอด) |
- ปลายรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ |
๒. พระบวรวิริยเถร (อยู่) |
- กลางรัชกาลที่ ๓ ถึง พ.ศ.๒๔๐๕ |
๓. พระราชพันธุ์ประพัทธ์ (ม.ร.ว.วงศ์ เจษฎากุล ณ กรุงเทพฯ) |
- พ.ศ.๒๔๐๕-๒๔๔๓ |
๔. พระครูธรรมจริยาภิรมย์ (โป๋ ธมฺมโชติ) |
- พ.ศ.๒๔๔๔- ๒๔๔๘ |
๕. พระปลัดวัน (รักษาการเจ้าอาวาส) |
- พ.ศ.๒๔๔๘- ๒๔๕๑ |
๖. พระวิสุทธิสังวรเถร (กล่อม) |
- พ.ศ.๒๔๕๑- ๒๔๕๓ |
๗. พระธรรมกิติ (เหม้น พรหมสอน) |
- พ.ศ.๒๔๕๕- ๒๔๕๙ |
๘. พระครูศีลคุณธราจารย์ (แนม ตงฺคสุวณฺโณ) |
- พ.ศ.๒๔๕๙- ๒๔๖๑ |
๙. พระญาณกิตติ (พัน) |
- พ.ศ.๒๔๖๒- ๒๔๗๘ |
๑๐. สมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสกมหาเถร) |
- พ.ศ.๒๔๗๘- ๒๕๒๐ |
๑๑. พระราชรัตนโสภณ (จันทร์ จนฺทสิริ) |
- พ.ศ.๒๕๒๑- ๒๕๓๓ |
๑๒. พระธรรมสิทธิเวที (ถมยา อภิจาโร) |
- พ.ศ.๒๕๓๔- ๒๕๖๔ | | |
พระธรรมสิทธิเวที (ถมยา อภิจาโร) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม |
พระเดชพระคุณพระธรรมสิทธิเวที เป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๒ ของวัดสังเวชวิศยาราม ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๒ เป็นกรรมการและเลขานุการ ศ.ต.ภ. เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโรงพยาบาลสงฆ์ พระเดชพระคุณฯ เป็นพระมหาเถระผู้ประกอบด้วยเมตตา มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี มีศีลาจารวัตรงดงาม มีความเสียสละ และอดทน อุทิศตนเพื่อกิจการงานพระศาสนา คณะสงฆ์ด้วยความเรียบร้อย ดีงามเสมอมา เป็นที่เคารพรักนับถือศรัทธาของพุทธบริษัททั้งหลายทั่วไป |
|
ประชาสัมพันธ์วัดสังเวชวิศยาราม ที่อยู่....วัดสังเวชวิศยาราม เลขที่ ๑๑๐ ซอยสามเสน แขวงบางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทร ๐๒-๒๘๑๗๒๙๖ ๐๘๗-๘๑๑๖๖๗๗ เวปไซด์ ศ.ต.ภ. www.sortorpor.com | |